ชุมชนดอนแร่
ชื่อตำบลดอนแร่ เกิดจากลักษณะของพื้นที่ตั้งของหมู่บ้านเป็นที่ดอนและมีกรวดมาก เมื่อมีประชากรมากขึ้นจึงได้มีการจัดตั้งเป็นตำบล ตามลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนและมีกรวดทรายมาก เม็ดกรวดภาษา ไทยวน เรียกเป็นแร่ จึงเป็นที่มาของชื่อ “ตำบลดอนแร่” อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แบ่งการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน ดังนี้ บ้านดอนแร่ บ้านนาหนอง บ้านหนองขาม บ้านดอนซาด บ้านดอนตัน บ้านดอนกอก บ้านหนองสระ บ้านหนองโปร่ง บ้านหนองมะตูม และบ้านห้วย

ชาวไทยวนดอนแร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ปลูกผัก โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยวน


นอกจากนี้ยังมีอัตลักษณ์ของชาวไทยวนในด้านหัตถกรรม โดยยังรักษาอาชีพดั้งเดิมของบรรพบุรุษไว้เป็นอย่างดี คือ การทอผ้า การทอผ้าซิ่นตีนจก ผ้าจกต่างๆ โดยมีการประยุกต์ใช้วัตถุดิบเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ในปัจจุบันมีลวดลายที่สวยงาม ถักทอด้วยความประณีตพิถีพิถันและสร้างคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

ต๋าหลาดไทยวน วัดนาหนอง
ต๋าหลาดไทยวน วัดนาหนองเป็นรูปแบบตลาดวัฒนธรรม ด้วยการรื้อฟื้นความเป็นชาติพันธุ์ของตนเอง อันได้แก่ ภาษาพูด การแต่งกาย ประเพณีวัฒนธรรมการเทศมหาชาติ การถวายทานเป็นภาษาล้านนา ทั้งยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนตามวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยวน เช่น ผ้าซิ่นตีนจก สินค้าทางการเกษตร อาหารพื้นบ้าน และมีการแสดงทางวัฒนธรรมของชาวไทยวนอีกด้วย ต๋าหลาดวัฒนธรรมไทยวน
วัดนาหนอง จึงเป็นหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญ ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมความเป็นอยู่ การแต่งกายและวิถีชีวิตของชาวไทยวน


ศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง
กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง เป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านดอนแร่ โดยจัดตั้งศูนย์ขึ้นภายในบริเวณวัดนาหนอง เพื่อเป็นศูนย์กลางและสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดยจะมีการแบ่งงานให้สมาชิกในกลุ่มในการทอผ้า และเมื่อทอเสร็จแล้วจะนำมาขายให้กับทางกลุ่ม เพื่อนำไปจำหน่ายหรือจัดส่งตามคำสั่งซื้อของลูกค้า กลุ่มหัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรีตั้งอยู่ภายในศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านราชบุรี วัดนาหนอง ตำบลดอนแร่ 38 หมู่ที่ 2 ตำบลดอนแร่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
