นางเสี้ยม สิงห์ถม หรือป้าเสี้ยม ป้าเสี้ยมเป็นผู้บุกเบิกการทอผ้าในชุมชนคูบัว หมู่ที่ 4 หรือคูบัวบ้านใต้ ป้าเสี้ยมมีความสามารถในการทอผ้าจก และซิ่นตาในหลากหลายลวดลาย เช่น ซิ่นตา 10 สี ซิ่นตาแบบโบราณ ซิ่นตา 12 ราศี เป็นต้น

รุ่นแรกในการฝึกทอผ้าจกในช่วงรื้นฟื้นมรดกภูมิปัญญาการถักทอผืนผ้าชาวไทยวนราชบุรี
ในช่วงปี 2532 กลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนราชบุรีมีการฟื้นฟูมรดกทางภูมิปัญญาการทอผ้าจก ป้าเสี้ยมกับสตรีไทยวนกลุ่มหนึ่งได้รับการฝึกอบรมการทอผ้าจก ด้วยความที่เคยทอผ้าในโรงงานทอผ้าในตัวเมืองราชบุรีทำให้การเรียนรู้และสามารถทอผ้าจกได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้นเมื่อผืนผ้าจกของชาวไทยวนเป็นรับรู้ถึงความสวยงามในวงกว้าง มีการบริโภคผ้าทั้งในหมู่ชาวไทยวนด้วยกันและในสังคมภายนอก ป้าเสี้ยมจึงทอผ้าเป็นอาชีพนับแต่นั้นมา
ตั้งกลุ่มทอผ้าที่ชุมชนคูบัวบ้านใต้
หลังจากฝึกฝนการทอผ้าจกสามารถทอได้และมีความเชี่ยวชาญระดับหนึ่ง ก็มีความคิดในการตั้งกลุ่มทอผ้าที่ชุมชนของตัวเอง คือ ที่หมู่ที่ 4 ตำบลคูบัว หรือเป็นที่รับรู้ในชื่อชุมชนคูบัวบ้านใต้ โดยป้าเสี้ยมเป็นผู้สอนการทอผ้าจกให้กับสมาชิกชุมชนที่สมัครใจเข้าร่วมกลุ่ม จำนวน 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงทอผ้าจนกระทั่งปัจจุบัน ป้าเล่าว่า “ช่วงนั้นคนคูบัวบ้านใต้ส่วนใหญ่ทำนา ว่างจากนาก็ไม่มีอะไรทำ จึงชวนเพื่อนมาทอผ้ากันดีกว่า” และนี่ คือ จุดเริ่มต้นของศูนย์ทอผ้าจกคูบัวบ้านใต้ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศาลาเพชร – ทองคำ ศาลากลางหมู่บ้านในปัจจุบัน

ความสามารถในการทอผ้าที่หลากหลายของป้าเสี้ยม
ป้าเสี้ยมมีความสามารถในการทอผ้าจก และซิ่นตาในหลากหลายลวดลาย เช่น ซิ่นตา 10 สี ซิ่นตาแบบโบราณ ซิ่นตา 12 ราศี เป็นต้น เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุป้าเสี้ยมได้ยึดการทอผ้าจกเป็นอาชีพหลัก


ป้าเล่าถึงเทคนิคในการทอผ้าซิ่นตาว่า “เราจะใช้กี่กระตุกทอผ้าซิ่นตา การทอผ้าด้วยกี่กระตุกนั้น มือกับเท้าจะต้องสัมพันธ์กัน เท้าเหยียบ มือกระตุกต้องสัมพันธ์กัน”

ในส่วนของการทอผ้าจก ป้าเล่าว่า “ป้าชอบทอผ้าจกมาก ถึงแม้จะใช้เวลานาน แต่เป็นมรดกของไทยวน พอทอเสร็จตัดเป็นถุงใส่สวยมาก ใส่แล้วดูดี เป็นผ้ามีราคา” ปัจจุบันป้าเสี้ยมยึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก และร่วมสืบสานด้วยการถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ หลายคน
