จำปาศักดิ์ อบเชย ป้าจำปาศักดิ์ชาวไทยวนคูบัวบ้านใต้ที่อยู่ในกลุ่มฝึกทอผ้าจกรุ่นแรก ด้วยประสบการณ์ในการทอผ้ากว่า 30 ปี ทำให้ป้าสามารถทอผ้าจกได้ทุกลวดลาย ในปัจจุบันเมื่อมีกี่กระตุกเข้าจึงทอผ้าจกในตระกูลซิ่นตาเป็นหลัก

วิถีการทอผ้าของป้าจำปาศักดิ์
ป้าจำปาศักดิ์พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการทอผ้ากับวิธีการดำรงอยู่ของป้า ดังนี้
“ทอผ้ามันอยู่ในสายเลือด วันไหนไม่ได้ทอจะหงุดหงิด ทุกวันต้องได้พุ่งสองสามทีก็ชื่อใจ มีความสุข”
“ทอผ้ากลางคืนจะได้ผืนผ้าที่ดี กลางคืนเงียบ ทำให้เรามีสมาธิ การทอผ้าต้องตั้งใจ หากไม่ตั้งใจสมาธิไม่ดีจะทอผิด”
“มีลายให้ดู ทอได้ทุกลาย เวลาทอจะดูตัวอย่างลายผ้า เปลี่ยนสีเส้นด้าย คิดก่อนเทียบสี แล้วลงมือทอ”
การทอผ้าของป้าจำปาศักดิ์เติมไปด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการสร้างผืนผ้าเพื่อให้ได้คุณภาพ ป้าบอกว่า “ป้าทอผ้าตามที่คนซื้อต้องการ แต่ต้องไม่เร่ง เสร็จเมื่อไรเมื่อนั้น ถ้าเร่งไม่ทำ เราต้องทอผ้าให้ได้สวย ดี ทอผ้าต้องใช้เวลา ไม่เหมือนทำอย่างอื่นๆ”


“ลายจำปายอง” : ชื่อลายผ้าเพื่อสามี
ป้าจำปาศักดิ์ มีสามี ชื่อ รต.ลำยอง อยู่กินเป็นสามีภรรยากว่า 50 ปี สามีเป็นผู้สร้างกี่ให้ป้าได้ใช้ทอผ้ากระทั่งปัจจุบัน แต่เมื่อสามีจากไปคิดถึงสามีที่เป็นผู้สร้างกี่ให้เป็นเครื่องมือทำมาหากิน จึงพัฒนาลายผ้าจกที่ป้าตั้งชื่อว่า “ลายจำปายอง” ชื่อลายเป็นตัดชื่อป้าและสามีมารวมกัน คือ จำปาศักดิ์และลำยอง เป็นการประยุกต์ลวดลายบนผืนผ้าซิ่นในผ้าตระกูล 10 สี ประกอบด้วย มุกข้าวลีบ กับลายเส้น 6 สี ยกมุก ป้าเล่าว่า “คิดถึงสามีที่เพิ่งเสียชีวิตไป 3 ปี จึงคิดลายผ้า ชื่อ จำปายอง เอาชื่อป้าผสมกับชื่อของสามี คิดถึงเขา เขาทำกี่หลังนี้ให้ป้า ทำที่กรอผ้าให้ เขาเป็นทหารช่างเลยทำได้ มันเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ได้ทอผ้าถึงปัจจุบัน”
